เมื่อเข้าสู่ยุคที่มนุษย์ต้องอยู่แต่บ้าน การปลูกไม้ด่างจึงยังคงเป็นกระแสในวงการจัดสวนกันอยู่เรื่อย ๆ หนึ่งในต้นไม้ยอดนิยมนั้น ก็คือ ‘กล้วยด่าง’ ที่มีมูลค่าพุ่งสูง จนนำไปแทนค่าสินสอดให้เจ้าสาวอย่างที่เราเห็นในข่าว เราจึงจะพาผู้อ่านไปดูความพิเศษของเจ้าต้นนี้ว่า มันมีดีตรงไหนกันบ้าง
ข้อมูลพื้นฐานสายพันธุ์กล้วยด่าง
จากฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ให้รายละเอียดของกล้วยด่างไว้ว่า เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีขนาด 2-3 เมตร หน่อที่กลายเป็นลำต้นใหญ่จะมีสีเขียวอมชมพู แผ่นใบมีขนาดใหญ่ โคนก้านใบเป็นสีชมพูอ่อน ปลีสีแดงคล้ำ มีนวล รูปร่างค่อนข้างเรียว เครือหนึ่งมี 4-5 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล รูปทรงของผลนั้นจะโค้งงอ ปลายเรียว ผิวของเปลือกเป็นสีด่างขาวเขียวหรืออมชมพู รสชาติคล้ายกล้วยไข่ แต่มีรสอมเปรี้ยวและไม่มีเมล็ด
สายพันธุ์ของกล้วยด่าง
สายพันธุ์มีหลากหลาย แต่ที่เป็นที่นิยมมีอยู่ด้วยกัน 5 สายพันธุ์ ได้แก่
– กล้วยด่างฟลอริดา
สีของใบจะเป็นสีเขียวตัดกับรอยด่างสีขาวหรือสีเหลือง นอกจากนี้ยังเป็นสายพันธุ์ที่เหล่าดารามักมีไว้สะสมกันด้วย
– กล้วยแดงอินโดด่าง
มีความสวยงามตรงที่กาบใบและแผ่นใบด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้มปนแดง ตัดกับลายด่างสีเขียวตามแกนใบ บางต้นอาจจะเป็นลายด่างขาวหรือสีชมพูอ่อน
– กล้วยน้ำว้าด่าง
มีความแตกต่างจากชนิดอื่นตรงลำต้นที่สั้น มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมมีกาบใบหุ้มแน่นหนา ใบเดี่ยวมีสีเขียวตัดขาว มีขนาดใหญ่ ปลายใบทรงมน
– กล้วยตานีด่าง
กาบลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวเข้มมีเส้นริ้วด่างขาว มีปื้นดำที่คอใบเล็กน้อย มีนวลชัดเจน ใบประดับสีน้ำตาลอมแดง
– กล้วยเทพพนมด่าง
ด้านบนของกาบใบเป็นสีเขียว และเป็นสีชมพูบริเวณส่วนโคนและด้านใน บริเวณใบมีรอยด่างสีขาวหรือสีเหลืองไปตามเส้นใบ แผ่นใบมีขนาดกว้าง ตัดกับด้านล่างที่เป็นสีแดงเข้ม ผลกล้วยจะรูปทรงติดกันเหมือนกับการพนมมือ
ที่มาลวดลายแปลกตาของกล้วยด่าง
ความสวยงามของรอยด่างที่เราเห็นกันนั้น ทั้งบริเวณลำต้น ใบ และผลกล้วย ไม่ได้แสดงถึงอาการป่วยของต้นไม้ แต่มันเป็นผลมาจากกลไกการทำงานของยีนด้อยที่แฝงอยู่ในพันธุกรรม จนเกิดเป็นรอยด่างเหลือง หรือรอยด่างขาวสีเผือก เรียกได้ว่ามันเป็นความผิดปกติทางธรรมชาติ ที่มีลักษะผสมปนเปกันไป จนออกมาเป็นรูปลักษณ์ที่แปลกตา และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การขยายพันธุ์กล้วยด่าง
วิธีที่ดีที่สุด คือ การเพาะเนื้อเยื่อ เพราะมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ขยายพันธุ์ได้ปริมาณมากในคราวเดียว ปลอดภัยจากโรค และต้นที่ได้รับการพัฒนาออกมาจะมีลักษณะตรงตามสายพันธุ์
การดูแลกล้วยด่าง
ควรปลูกในดินที่ร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี ใส่ปุ๋ยเสริมได้เล็กน้อย และระวังเรื่องแสงแดดกับปริมาณน้ำที่ต้องอยู่ในปริมาณปานกลาง ถึงจะโตมามีลวดลายสวยงามได้
สำหรับวันนี้ PlantLover ต้องขอลาไปก่อน ในเว็บไซต์ของเรา ยังมีบทความเกี่ยวกับต้นไม้อีกมากมาย ให้ทุกท่านได้อ่านกัน ทั้งต้นไม้หายาก ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืน หรือไม้ฮิดติดกระแส อย่าลืมเข้ามาติดตามกันนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในโอกาสหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ