เจาะลึกเรื่อง ‘ต้นบอนสี’ ราชินีแห่งใบไม้

by plantlover
ต้นบอนสี

อย่างที่เรารู้กันว่า ต้นบอนสี เป็นต้นไม้ที่มีความสวยงามอย่างหลากหลาย เพราะด้วยการผสมสายพันธุ์อยู่ตลอด คนไทยจึงนิยมปลูกกันมาอย่างยาวนาน และจากบทความก่อนหน้าที่เราพาทุกคนไปรู้จักกับ 10 อันดับ บอนสี ราคาแรงที่สุดในตอนนี้ ในบทความนี้ เราจึงจะพาคุณไปรู้จักต้นไม้ยอดฮิตนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ทราบถึงที่มา ลักษณะ การดูแลรักษา รวมถึงการขยายพันธุ์ 

ประวัติของต้นบอนสี

เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ Araceae สกุล Caladium มีต้นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ สันนิษฐานกันว่า ต้นบอนเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยชนชั้นนำที่ทำการค้าขายกับชาวต่างชาติในสมัยนั้น และถูกนำเข้ามามากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ปี 2470-2475 ซึ่งเป็นยุคที่มีการผสมสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และอีกช่วงคือ ปี 2522-2525 ที่มีการจัดตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย 

ลักษณะโดยทั่วไปของต้นบอนสี

ต้นบอนเป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินเหมือนกับหัวเผือกหรือมัน มีรากเป็นเส้นฝอยเล็ก ๆ แทงออกมารอบ ๆ หัวและลำต้น และมี เขี้ยว ที่เป็นหน่อเล็ก ๆ อยู่บริเวณราก ซึ่งสามารถงอกออกเป็นต้นใหม่ได้ 

ข้อนำแนะเรื่องการปลูกและการดูแลรักษาต้นบอนสี

ต้นบอนสี

– ดินที่ใช้ปลูกควรมีความร่วนซุย โดยระบายน้ำและอากาศได้ดี 

– ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก หากปลูกในกระถาง ควรมีจานรองกระถางที่ใส่น้ำไว้ตลอด

– แสงแดดมีผลอย่างมากต่อสีสันและลวดลายของใบ เพราะฉะนั้นยิ่งได้รับแสงแดดมากเท่าไร ใบก็จะยิ่งมีมีสีสดและเกิดลเป็นลวดลายที่ชัดเจน แต่ก็อย่าให้ถูกแสงแดดจัด ๆ มากเกินไป เพราะจะทำให้ใบเหี่ยวและเกิดเป็นรอยไหม้ ดังนั้น ควรให้ต้นบอนสีได้รับแสงแดดช่วงเช้าหรือบ่ายที่ไม่ร้อนจัด 

ต้นบอนสี

– พืชชนิดนี้ต้องการความชื้นสูง เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อน ความชื้นในอากาศจะต่ำลง ต้นบอนสีจะพักตัวโดยการทิ้งใบจนหมด และเริ่มผลิใบใหม่ในช่วงฤดูฝน ผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดการพักตัวจึงควรเลือกปลูกในตู้หรือกระโจม

– การให้ปุ๋ยอินทรีย์ ควรใช้เป็นมูลหมูหรือมูลไก่ เพราะถ้าใช้มูลวัวไปนาน ๆ จะมีผลต่อดินเละอาจทำให้หัวของบอนเน่าได้ง่าย ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใช้สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 ในอัตราต่ำ ๆ และไม่ควรใช้วิธีให้ปุ๋ยทางใบ เพราะผิวใบของพืชชนิดนี้ค่อนข้างบอบบาง จึงอาจเกิดเป็นรอยไหม้และทำให้หมดราคาได้

การขยายพันธุ์ต้นบอนสี

ต้นบอนสี

การแยกหน่อ – เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ไม่ยุ่งยาก และพืชต้นใหม่ที่ได้จะเหมือนต้นพ่อและแม่แทบทุกประการ ช่วงที่ดีที่สุดในการแยกหน่อคือฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีการพักตัว ต้นใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็จะเติบโตและแข็งแรงได้เร็ว 

การผ่าหัวบอน – วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมาก เพราะเป็นการขยายพันธุ์ที่ทำได้หลายต้นในคราวเดียว โดยมีวิธีการ คือ นำหัวของต้นบอนมาผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาชำให้เกิดเป็นต้นใหม่ แต่วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่ ต้นใหม่ที่ได้มักมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ นอกจากนี้ การผ่าบอนยังควรทำในหน้าฝนเช่นเดียวกัน เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีการพักตัวและมีความชื้นในอากาศสูง ต้นใหม่ที่ได้ก็จะผลิใบได้เร็วขึ้นด้วย

การเพาะเมล็ด – เป็นการนำเมล็ดที่ได้จากการผสมเกสรของพืชมาเพาะ เหมาะกับคนที่อยากได้บอนแบบลูกผสม ซึ่งก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเรื่องลักษณะหรือความแข็งแรงที่อาจด้อยกว่าต้นพ่อและต้นแม่ด้วย

สำหรับวันนี้ PlantLover ต้องขอลาไปก่อน ในเว็บไซต์ของเรา ยังมีบทความเกี่ยวกับต้นไม้อีกมากมาย ให้ทุกท่านได้อ่านกัน ทั้งต้นไม้หายาก ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น หรือไม้ฮิตติดกระแส อย่าลืมเข้ามาติดตามกันนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

You may also like

Leave a Comment