เขากวางอ่อน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอวัยวะของสัตว์ใด หากแต่เป็นชื่อของกล้วยไม้สวยงามซึ่งเราจะมาพูดคุย ทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับเขาให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนที่รักในการปลูกต้นไม้ น่าจะมีใครแอบเล็งเจ้าต้นนี้ไว้อยู่ ส่วนจะมีสิ่งใดน่าสนใจ เกร็ดความรู้ การขยายพันธุ์ ปลูก ดูแลอย่างไร ตามมาด่วน ๆ จ้า
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “เขากวางอ่อน” กล้วยไม้สวยๆ พร้อมวิธีปลุก ดูแลรักษา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phalaenopsis cornu-cervi (Breda) Blume & Rchb. f.
ชื่อวงศ์ : Orchidaceae
สกุล : Phalaenopsis
ชื่ออื่น ๆ : เอื้องม้าลายเสือ, เอื้องเขากวาง, ม้าลาย, เอื้องจะเข็บ
เขากวางอ่อน เรียกได้ว่าเป็นกล้วยไม้น่าปลูกอีกต้นหนึ่ง มีลักษณะแบบอิงอาศัยบนต้นไม้ ไม่แน่ชัดว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใดกันแน่ ทว่าพบกระจายตัวอยู่ตามป่าเขตร้อนหรือป่าซึ่งมีร่มเงามากทั่วภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศแอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราโดยเฉพาะเกาะสุมาตรา การปลูกและการดูแลกล้วยไม้ชนิดนี้ สามารถทำได้ ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก ใครอยากรู้ต้องอ่านให้จบ!!
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลักษณะลำต้นของเขาเล็กมาก สั้นและเรียว ผิวเรียบ มีสีเขียว สูง 5-10 เซนติเมตรโดยประมาณ
ใบ : สำหรับใบของเขาจะเป็นรูปหอก เรียงสลับในแนวระนาบเดียวกัน อ้วน ใบไม่ยาวมาก โคนแหลม ปลายแหลม ขอบขนานกัน แผ่นใบอวบ สีเขียวไม่เข้ม ผิวเป็นมัน กว้าง 2 – 4 เซนติเมตร ยาว 10 – 15 เซนติเมตรโดยประมาณ
ดอก : ในส่วนของดอกเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของเจ้าเขากวางอ่อนเลยล่ะ ลักษณะของดอกจะออกตามซอกใบเป็นช่อ ในแต่ละช่อมีดอกย่อยราว ๆ 5-8 ดอก มีแกนช่อดอกแบน พร้อมใบประดับรูปสามเหลี่ยม ในส่วนของกลีบเลี้ยงและกลีบดอกสีเหลืองจะเต็มไปด้วยแต้มสีน้ำตาลแดงขึ้นเป็นปื้น ซึ่งนี่คือจุดสังเกต
ผิวกลีบของเขาค่อนข้างมัน ปลายกีบแผ่ออกรูปสามเหลี่ยม เมื่อดอกบานแล้วจะมีขนาด 3 – 4 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มีสีเหลืองและลวดลายที่งดงามวิจิตรแตกต่างกันออกไป บางดอกก็คล้ายกับลายเสือ มักออกดอกให้เราได้ชื่นชมช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคม ของทุกปี
ประโยชน์
กล้วยไม้มีประโยชน์มากมายแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ อย่างเจ้าเขากวางอ่อนนี้มีคุณสมบัติคายออกซิเจนในตอนกลางคืนอย่างเดียวไม่พอ เขายังเปี่ยมไปด้วยความสามารถพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการดูดสารพิษจากหมึกของเครื่องพิมพ์ จึงเหมาะแก่การปลูกไว้ในสำนักงาน หรือแม้กระทั่งการดูสารพิษจากสีทาบ้าน และแอลกอฮอล์ ใครกำลังตามหาไม้ประดับ มากประโยชน์บอกเลยว่าต้องปลูก
การขยายพันธุ์
ความจริงแล้วการขยายพันธุ์ กล้วยไม้สามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน ตั้งแต่การแยกหน่อ แยกกอ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเพาะเมล็ด แต่ในกรณีของต้นที่ไม่แตกกอก็อาจจะต้องหันไปใช้วิธีการอื่นแทน
แยกกอ
สำหรับวิธีแยกกอกล้วยไม้นี้ง่ายที่สุด และเป็นที่นิยมในคนหมู่มาก อุปกรณ์ที่ต้องใช้ไม่ยุ่งยาก มีดังต่อไปนี้
– มีด
– ปูนแดง
– ขอนไม้, กระถาง (เลือกตามความสวยงามได้เลย)
– กาบมะพร้าว, สแฟกนั่มมอส หรือรากชายผ้าสีดา (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง)
– เชือกฟาง
– ลวดสำหรับไว้แขวนกล้วยไม้
สำหรับขั้นตอนการขยายพันธุ์ ก่อนอื่นเราจะเห็นเลยว่าเจ้าเขากวางอ่อนนั้นมีกอที่ค่อนข้างแน่นหากมีอายุหลายปี เกิดจากการแตกหน่อออกใหม่ไปเรื่อย ๆ ทำให้ธาตุอาหารไม่เพียงพอ จนกระทั่งต้นนั้นทรุดโทรม เราจึงจำเป็นต้องแยกกอออก ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1.เลือกต้นพันธุ์ที่มีลูกกล้วยอย่างน้อย 2 ลำต้น รวมถึงที่บริเวณโคนลำหลังต้องไม่แห้ง
2.จากนั้นใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือมีดคม ๆ เข้าไปตัดบริเวณลำลูกกล้วย ต้องตัดเหง้าให้ขาด
3.จากนั้นป้ายปูนแดงที่บาดแผลให้ทั่ว
4.ล้างขอนไม้ หรือกระถางที่เราเตรียมเอาไว้ให้สะอาด
5.ใช้กาบมะพร้าว, สแฟกนั่มมอส หรือ รากชายผ้าสีดา อย่างใดอย่างหนึ่งวางรองบริเวณขอนไม้ เพื่อไม่ให้กล้วยไม้สัมผัสกับขอนไม้โดยตรง หรือหากใช้กระถางก็วางลงในกระถางก่อนเพราะถ้าหากวางรากของเขาติดกับขอนไม้เลยจะทำให้ต้นโตช้าจนเกินไป
6.ใช้เชือกมัดต้นติดกับขอนไม้ ห้ามใช้ลวดมัดเด็ดขาดเนื่องจากจะทำให้ต้นของเขาเกิดแผล และติดเชื้อในเวลาต่อมา
7.นำกล้วยไม้นี้ไปแขวนเอาไว้ในพื้นที่แสงแดดรำไร ที่ร่ม หรือหากใครมีสวนกล้วยไม้ขึงสแลนเอาไว้อยู่แล้วก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่
การดูแล
เมื่อเราต้องการให้กล้วยไม้เติบโตอย่างมีคุณภาพ การดูแลอย่างถูกวิธีก็ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนำเขาไปปลูกก็จะต้องให้ถูกแสงอย่างพอดี ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง หรือจะนำไปเกาะกับต้นไม้ใหญ่เลยก็ได้เช่นกัน อย่าลืมให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ 1 สัปดาห์/ครั้ง ส่วนการรดน้ำจะต้องพ่นเป็นฝอยละเอียด ห้ามแฉะจนเกินไป อย่าลืมพ่นยากันเชื้อรา 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง ทุกอย่างห้ามเข้มข้นจนเกินไปเพราะอาจทำให้ต้นไม้ตายได้
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “เขากวางอ่อน” กล้วยไม้ดอกสวยที่หลายคนคุ้นหน้าค่าตาเป็นอย่างดี เขาคือหนึ่งในไม้ประดับสวยงามที่ต้องการการเอาใจใส่ ละเอียดลออ และมีความรักที่จะเลี้ยงดูอย่างมาก ทั้งนี้ก็คงไม่เกินความสามารถของคุณหรอกจริงไหม? หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังสนใจนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net