อาร์ติโชค หรือเจ้าดอกไม้สีเขียวดอกใหญ่ที่เรามักเห็นคนในโลกออนไลน์ซื้อมาลองรับประทาน กำลังเป็นผักเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมและมีราคาแพงในประเทศไทย ความจริงแล้วก็สามารถปลูกในประเทศไทยได้เช่นกัน เพียงแต่สามารถปลูกได้ในบางพื้นที่เท่านั้น สำหรับวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับเจ้าผักชนิดนี้ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งประโยชน์ การกิน รสชาติและการปลูก และต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณต้องทราบเอาไว้!!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับอาร์ติโชค ผักเมืองหนาวมากประโยชน์ ราคาแพง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cynara cardunculus
ชื่อวงศ์ : Asteraceae (วงศ์ทานตะวัน)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Artichoke
อาร์ติโชค เป็นพืชเมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศทางยุโรปเขตเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งผู้คนสมัยก่อนนิยมนำมาประกอบอาหารโดยเฉพาะชาวกรีก โรมันและอียิปต์ ที่มักนำมาทำเป็นยารักษาโรค ในปัจจุบันเจ้าดอกไม้กินได้ชนิดนี้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกอาณาบริเวณของโลก ในภูมิภาคอาเซียนมีการปลูกกันมากที่สุดทางบริเวณตอนเหนือของเวียดนาม จนกระทั่งมีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ณ โครงการหลวงเมื่อปี พ.ศ 2528
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลักษณะต้นของเขาจะเป็นต้นเดี่ยว สูงโปร่ง เมื่อโตเต็มวัยจะมีความสูงอยู่ที่ราว ๆ 1.80 เมตร ผิวเปลือกสีเขียว แม้กระทั่งสายพันธุ์ดอกม่วง
ใบ : เขาเป็นพืชใบเดี่ยวที่จะออกใบลดหลั่นกันลงมา ใบยาวเป็นรูปหอกแหลม มีรอยหยักฟันปลา เนื้อสัมผัสใบนุ่ม
ดอก : ดอกอาร์ติโชค หากมองแบบผิวเผินรูปร่างจะมีความคล้ายคลึงกับดอกบัวเป็นอย่างมาก มีทั้งดอกสีเขียวและดอกสีม่วงขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก เนื้อกลีบหนา แกนกลางดอกมีเยอะ
อาร์ติโชค กินอย่างไร?
เจ้าผักชนิดนี้อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ สามารถนำมาประกอบอาหารได้มากมาย แต่หากต้องการรับประทานเล่น ส่วนใหญ่มักนำส่วนดอกของเขามานึ่งจนสุก แล้วเด็ดกินทีละกลีบ วิธีการก็คือกัดลงไปที่บริเวณโคนกลีบแล้วใช้ฟันรูดเนื้อข้างในออกมา ชาวต่างชาติมักนำไปจิ้มกับเนยก่อนทาน โดยรสชาติของส่วนนี้ค่อนข้างหวานและมันคล้ายหัวปลี สัมผัสนิ่ม เนียนลิ้น ส่วนจะเป็นที่โปรดปรานของใครก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ก็ยังนำไปชุบแป้งทอด ดอง หรือใส่ในสลัดก็ได้เช่นกัน
ในส่วนใจกลางดอกของเขาก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่อร่อยมาก ๆ ลักษณะเป็นก้อนเนื้อสีขาว เทา รสชาติหวานมันเหมือนถั่วและเข้มข้นกว่าส่วนกลีบมากโข
คุณค่าทางโภชนาการ / 100 กรัม
ในปริมาณ 100 กรัม อาร์ติโชคจะประกอบไปด้วยแคลอรี่ 40 Kcal, คาร์โบไฮเดรต, โปรตีน, น้ำ, ไฟเบอร์, วิตามินซี, วิตามินบี1 / บี6, ส่วนที่เหลือจะเป็นแร่ธาตุจำพวก โพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, แมกนีเซียม และเหล็ก ทั้งนี้หากเพื่อน ๆ ต้องการข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้นแนะนำให้ปรึกษานักโภชนาการจะดีที่สุด
ประโยชน์
อาร์ติโชคเป็นผักประโยชน์เยอะที่รับประทานแล้วเกิดผลดี มีสรรพคุณทางยา ช่วยป้องกันเรื่องไขมันอุดตันในเส้นเลือด บำรุงระบบการทำงานของหัวใจ ลดไขมัน ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดโอกาสในการเป็นโรคโลหิตจาง ลดกรดในกระเพาะ ใครท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยวบอกเลยว่าต้องลองทาน แถมเขายังช่วยย่อยอาหารเก่งมากอีกด้วย
How to ขยายพันธุ์และปลูก
สำหรับอาร์ติโชคนั้นเราสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากหรือหนักหนาเกินกว่ามือใหม่จะทำไหว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายประการเนื่องจากเขาเป็นพืชเมืองหนาว ก็จะสามารถปลูกได้เพียงบางพื้นที่ของประเทศไทยเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นตามพื้นที่ป่าเขาทางภาคเหนือ ซึ่งอากาศค่อนข้างเย็นกว่าโลเคชั่นอื่น ซึ่งการขยายพันธุ์อาร์ติโชคมีขั้นตอนและวิธีการดังต่อไปนี้
อุปกรณ์
– พีทมอส
– กระถางทรงสูง มีรูระบายน้ำที่บริเวณก้น
– เมล็ดพันธุ์
ขั้นตอนการปลูก
1.นำเมล็ดอาร์ติโชคไปแช่ในน้ำอุ่นทิ้งไว้ราว ๆ 1 คืน
2.นำพีทมอสไปแช่น้ำเอาไว้จนกระทั่งชุ่มชื้นเต็มที่ แล้วจึงนำมาใส่ลงในกระถางทรงสูง
3.นำเมล็ดที่แช่น้ำอุ่นแล้วมาวางลงตรงกลางกระถาง จากนั้นใช้นิ้วกดเมล็ดลงไปให้จมลงในพีทมอสราว ๆ 2 เซนติเมตร
4.จากนั้นใช้ดินกลบแล้ววางไว้ยังพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงเล็กน้อย สักประมาณ 12 วันใบที่ 3 ของเขาก็จะเริ่มงอกออกมา
5.รอจนกว่าใบจริงจะงอกงามแล้วค่อยนำไปปลูกลงแปลง
การดูแล
ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชเมืองหนาว แต่อาร์ติโชคก็ชื่นชอบอากาศเย็นสบายแบบกลาง ๆ ไม่ร้อนหรือหนาวจัดเกินไป เป็นพื้นที่มีความชื้นระดับกลาง ๆ แบบที่เราเห็นเขาปลูกกันอยู่แถวสถานีฯ อ่างขาง จะเริ่มปลูกลงดินช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน อายุต้น 2 ปีก็พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวดอก บอกเลยว่าปลูกครั้งเดียว เก็บได้บ่อยเพราะมีอายุยืน 5-10 ปี (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์)
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับเจ้า อาร์ติโชค ที่เราได้นำมาฝากเพื่อน ๆ เป็นอย่างไรบ้างคะ ได้เห็นเรียบร้อยแล้วใช่ไหมว่าเขาเป็นผักที่มีความน่าสนใจอย่างไร สำหรับเพื่อน ๆ ที่บ้านไม่ได้อยู่ภาคเหนือหรือบนดอย แอบกระซิบว่าปลูกเขาในห้องแอร์ก็ได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องแสงไฟเป็นพิเศษ สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net