หากกล่าวถึง “ต้นหิรัญญิการ์” เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อของเขาสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเห็นหน้าค่าตาของดอกก็ต้องมีร้องอ๋อบ้างล่ะ เพราะเจ้าดอกไม้สีขาวสวยนี้มีกันหลายบ้าน จัดซุ้มสวยงาม ประโยชน์มากมาย ปลูกแล้วมงคล ดีจริงไหม? นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนปลูกเจ้าหิรัญญิการ์ แอบกระซิบว่าดูแลไม่ยากอย่างที่คิด
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ต้นหิรัญญิการ์” ไม้ประดับจัดซุ้มสวยงาม ควรมีติดบ้าน!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Beaumontia grandiflora Wall.
วงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่อสกุล : APOCYNACEAE
ชื่อสามัญ : Herald trumpet
ชื่อภาษาอังกฤษ : Nepal Trumpet, Easter Lily Vine
ชื่ออื่น ๆ : เถาตุ้มยำช้า (ภาคเหนือ) หิรัญญิการ์ (ภาคกลาง)
“ต้นหิรัญญิการ์” เป็นไม้เลื้อยดอกสีขาว กลิ่นหอมเย็น ละมุน ชื่นใจ คล้ายพลับพลึง มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเนปาล ทั้งนี้มีข้อมูลแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าเริ่มต้นจากประเทศจีน อินเดีย บ้างก็ว่ามาจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยเรา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยจะมีหิรัญญิการ์ประมาณ 3 – 4 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ดอกแดง ดอกเล็ก และดอกใหญ่
ความเชื่อ
ต้นหิรัญญิการ์เรียกได้ว่าเป็นไม้มงคลที่ไม่ได้มีความเชื่ออะไรมากมาย เพียงแค่คำว่า “หิรัญ” มีความหมายถึงเงินหรือแสงจันทร์เมื่อวันเพ็ญ มองแล้วสวยงาม สบายตา เห็นความหมายดีแบบนี้หากปลูกไว้หน้าบ้าน ก็อาจจะช่วยส่งเสริมพลังงานดี ๆ ด้านการเงินได้เช่นกัน บอกแล้วปลูกไว้ไม่เสียหายอย่างแน่นอน
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
ลำต้น : มีลักษณะเป็นเถาไม้เนื้อแข็ง มีขนอ่อนสีน้ำตาลขึ้นอยู่ที่ผิวของเถา มักเลื้อยยาวไปเกี่ยวเกาะตามสิ่งของ
ใบ : มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะใบรูปวงรีหรือวงรีแกมขอบขนาน โคนใบนม ปลายใบมนมีติ่งแหลมกลางปลายใบ ขอบใบไม่หยัก ท้องใบมีเส้นชัดเจน หลังใบเรียบ เป็นมัน มีความยาวราว ๆ 5-7 นิ้ว และกว้างอยู่ที่ 1.5-2.5 นิ้ว ก้านไม่ยาวมาก
ดอก : แน่นอนว่าไฮไลท์ที่ทุกคนรอคอยในการปลูกต้นหิรัญญิการ์ก็คือ “ดอก” ซึ่งมักออกเป็นช่อที่บริเวณปลายกิ่ง ในหนึ่งช่ออาจมีดอก 5-10 ดอกเลยทีเดียว แต่จะค่อย ๆ ทยอยบานและร่วงโรย ก้านดอกของเขายาว 2-3.2 เซนติเมตร หากมีดอกตูมขึ้นมาจะออกสีเหลือง เมื่อบานแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับระฆังหงาย ก้นทรงถ้วยบานออก 5 กลีบ ขอบกลีบหยักเป็นคลื่นสวยงาม ส่วนใหญ่มีสีขาว หากเจอแสงแดดยามเช้าจะสวยงามมาก
ผล : ไม้พุ่มชนิดนี้ออกผลเป็นฝักคล้ายกับผัก ความยาว 12-30 เซนติเมตร เปลือกแข็งและหนา เมื่อฝักแก่จะแตกอ้าออก ซึ่งภายในจะมีเมล็ดสีน้ำตาล มีขนอ่อนนุ่มติดอยู่เป็นกระจุก หากโยนขึ้นฟ้าจะลอยไปตามอากาศอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อมีลมจะสามารถพัดพาไปได้ไกลเลยทีเดียว ข้อควรระวังก็คือเมล็ดมีรสเมา หากนำมารับประทานอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ประโยชน์
ด้วยความที่เขาเป็นไม้เลื้อย ทนแดดได้ดี ประโยชน์จึงมีมากกว่าการนำมาประดับตกแต่ง จัดสวนสวยงาม นิยมนำซุ้มมาให้เขาเลื้อยขึ้นไปด้านบนเพื่อเป็นร่มเงา หรือให้เขาเลื้อยขึ้นไปบนหลังคาเสียจนเต็ม บ้านก็จะไม่ร้อนเท่าไร
การขยายพันธุ์ / ปลูก / ดูแล
ต้นหิรัญญิการ์ ปลูกง่ายขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี ทั้งการเพาะเมล็ด การตอนกิ่งและการปักชำ ซึ่งสองวิธีหลังได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากจะทำให้ต้นหิรัญญิการ์มีโอกาสติดดอกได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหากต้องการให้ตอนกิ่งติดไว อาจจะต้องใช้ฮอร์โมนเร่งรากช่วย จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงนำไปปลูกต่อได้
การปลูกไม้เลื้อยดอกสวยชนิดนี้ แนะนำให้ปลุกในที่กลางแจ้ง แสงแดดส่องถึงอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากเขาชื่นชอบแดดเป็นพิเศษ แนะนำให้ปลูกลงในดินที่ระบายน้ำได้ดีหรือมีวัตถุอินทรีย์ผสม รดน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ 1-2 ครั้งต่อวัน ระวังอย่าให้น้ำท่วมขังแฉะจนเกิดโรคตามมา ส่วนการให้ปุ๋ยจะให้หรือไม่ก็ได้ เพราะเจ้าต้นไม้นี้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกสวยอยู่แล้ว
ต้นหิรัญญิการ์ออกดอกช่วงไหน?
เขาอาจเป็นดอกไม้กลิ่นหอม ที่ไม่ได้ออกดอกตลอดทั้งปี แต่การรอคอยอันแสนยาวนานก็คุ้มค่าเมื่อเราได้เชยชมดอกสีขาวสวย ซึ่งจะออกดอกส่งกลิ่นหอมยามเช้าในช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน เรียกได้ว่ากินรวบทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อน สร้างความสดชื่นให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้แน่นอน
ราคาตามท้องตลาด
สำหรับราคาของต้นที่ปลูกลงดินครั้งแรก มีความสูง 1 ฟุตส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว ๆ ต้นละ 65 – 90 บาท แต่ละร้านแตกต่างกันออกไป แอบเห็นตามช่องทางออนไลน์เขาก็มีให้เลือกเยอะเช่นกัน ตรงนี้อยากให้เพื่อน ๆ ทำความเข้าใจรายละเอียดอย่างรอบคอบก่อนซื้อต้นไม้ออนไลน์ทุกครั้ง เพื่อลดการเกิดข้อผิดพลาดในภายหลัง
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับต้นหิรัญญิการ์ที่เราอยากให้เพื่อน ๆ ได้รู้จัก เพื่อนำไปต่อยอดความคิดทั้งการปลูกต้นไม้ การดูแล เอาใจใส่ หรือจะนำไปต่อยอดธุรกิจต่าง ๆ ก็ได้เช่นกัน คงทราบกันไปแล้วว่ามีสิ่งใดที่น่าสนใจสำหรับคนอยากปลูก เราหวังอย่างยิ่งว่าเรื่องราวทั้งหมดจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net