พืชและสัตว์ ต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหลายเซลล์เช่นเดียวกัน แต่โครงสร้างและส่วนประกอบของเซลล์พืชและสัตว์ มีขนาดรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมของหน้าที่ ซึ่งในขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานหรือองค์ประกอบส่วนใหญ่ ของทั้งเซลล์พืชและสัตว์จะไม่แตกต่างกันมากนัก เซลล์พืชคือ หน่วยที่เล็กที่สุดของพืช ส่วนประกอบของเซลล์พืชที่ทำงานร่วมกัน ประสานกัน ทำให้พืชเป็นสิ่งมีชีวิต ช่วยสร้างออกซิเจนให้เราหายใจ และเป็นอาหารให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ วันนี้ Plantlover จะพาทุกคนไปดูถึงรายละเอียด ไปติดตามกันได้เลย
ส่วนประกอบของเซลล์พืช
1. ผนังเซลล์
เป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุดของส่วนประกอบของเซลล์พืช จะพบใน เซลล์พืช แต่ไม่พบในเซลล์สัตว์ โครงสร้างที่กำหนดขอบเขตและรูปร่างของสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนที่ไม่มีชีวิต มีหน้าที่เพิ่มความแข็งแรง ค้ำจุนโครงสร้างของเซลล์ ทำให้เซลล์คงรูปและป้องกันการสูญเสียน้ำของเซลล์พืช ประกอบด้วยเซลลูโลสเป็นส่วนใหญ่และยังประกอบด้วยสารพวกเพกทิน ลิกนิน ฮีมิเซลลูโลส ซูเบอริน ไคทิน และคิวทิน
2. เยื่อหุ้มเซลล์
มีลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ อยู่ล้อมรอบเซลล์ประกอบด้วยฟอสโฟลิพิด และโปรตีนเป็นส่วนมาก ทำหน้าที่ห่อหุ้มส่วนที่เป็นของเหลวและออร์แกเนลล์ภายใน ทั้งยังเป็นเยื่อเลือกผ่าน ควบคุมการเข้าออกของสารต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เซลล์ พบได้ทั้งในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์เป็นส่วนที่มีชีวิต
3. ไซโทพลาซึม
มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายเจลลี่ที่อยู่ภายในเซลล์ซึ่งมีน้ำโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และเกลือแร่ต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบ
4. นิวเคลียส
เป็นส่วนประกอบของเซลล์พืชที่สำคัญที่สุด มีลักษณะค่อนข้างกลม ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ ได้แก่ การควบคุมเมแทบอลิซึมของเซลล์ ควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนและเอนไซม์ ควบคุมการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูกหลาน ควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเซลล์ ควบคุมการเจริญเติบโต และควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต
5. คลอโรพลาสต์
พบเฉพาะในเซลล์พืชที่มีสีเขียว คลอโรพลาสต์ประกอบด้วยเยื่อหุ้ม 2 ชั้น ชั้นนอกทำหน้าที่ควบคุมชนิดและปริมาณของสารที่ผ่านเข้า และออกจากคลอโรพลาสต์ส่วนชั้นในจะมีลักษณะยื่นเข้าไปภายในและมีการเรียงกันเป็นชั้น ๆ อย่างมีระเบียบ ภายในเยื่อหุ้มชั้นในจะมีโมเลกุลของสารสีเขียว นั่นคือคลอโรฟีล
6. ร่างแหเอนโดพลาซึม
แบ่งออกเป็นแบบผิวเรียบและผิวขรุขระ แบบผิวเรียบจะไม่มีไรโบโซม ขณะที่แบบผิวขรุขระจะมีไรโบโซมเกาะอยู่ เป็นแหล่งสร้างโปรตีน และทำหน้าที่ส่งโปรตีนออกไปยังนอกเซลล์
7. แวคิวโอล
ลักษณะเป็นถุงที่มีเยื่อหุ้ม มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน แวคิวโอลมีหลายชนิดทำหน้าที่แตกต่างกันไป พบในเซลล์พืช เรียกว่า แซบแวคิวโอล ขณะที่เซลล์พืชอายุน้อยมีแวคิวโอลขนาดเล็กจำนวนมาก แต่เมื่อเซลล์มีอายุมากขึ้น จะรวมเป็นถุงเดียวกันทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำหน้าที่สะสมสารบางชนิด
8. ไมโทคอนเดรีย
รูปร่างส่วนใหญ่มีลักษณะกลม ท่อนสั้น ท่อนยาว หรือกลมรีคล้ายไข่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-1 ไมครอน ยาว 5-7 ไมครอน ประกอบด้วยสารอาหารจำพวกพวกโปรตีนและไขมัน
9. กอลจิบอดี
มีรูปร่างเป็นลักษณะคล้ายชาม เป็นถุงแบนๆ หรือเป็นท่อเรียงซ้อนกัน เป็นชั้น ๆ มีจำนวนไม่แน่นอน มีประมาณ 5-10 ชั้น มักพบ 2-8 อัน ตรงปลายของถุงมักโป่งออก รูปร่างของกอลจิบอดี จะเปลี่ยนอยู่เสมอ เป็นเพราะบางส่วนเจริญเติบโต บางส่วนจะหดและหายไป ทำหน้าที่รับสาร เก็บสารต่าง ๆ ภายใน ตัดแต่ง ต่อเติมโปรตีนให้สมบูรณ์ แล้วเคลื่อนย้ายไปสู่จุดหมายปลายทางต่าง ๆ ทั้งภายในเซลล์และภายนอกเซลล์