ต้นหอมญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผักเมืองหนาวที่นำมาทำอาหารได้หลากหลาย และเนื่องจากมีต้นใหญ่จึงค่อนข้างแตกต่างจากหอมไทยที่เราเห็น แถมยังมาพร้อมคุณประโยชน์น่าสนใจมากมาย หากคุณคือคนหนึ่งที่กำลังสนใจอยากลองปลูกเจ้าต้นหอมนี้อยู่ เรามีเรื่องที่คุณต้องรู้ พร้อมวิธีการปลูกในประเทศไทยมาฝาก
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับต้นหอมญี่ปุ่น ผักต่างประเทศน่าปลูก รังสรรค์เมนูหลากหลาย!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium fistulosumL.
ชื่อวงศ์ : Alliaceae (วงศ์พลับพลึง)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Japanese Bunching Onion
ต้นหอมญี่ปุ่น ที่เรารู้จักหรือเคยเห็นนั้น แน่นอนว่าต้องมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน และนอกเหนือจากนี้ก็ยังสามารถพบได้ตามประเทศในแถบเอเชียตะวันออกอื่น ๆ สำหรับคนญี่ปุ่นมันคือผักเครื่องเคียง ชูกลิ่น รส ที่ขาดไปไม่ได้ในแทบทุกเมนูอาหาร ให้กลิ่นหอม รสหวาน ฝาดนิด ๆ นิยมนำมากินสดด้วยนะ ใครชอบก็จับมาจิ้มน้ำพริกแบบบ้าน ๆ ทานได้เลย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : สำหรับลำต้นที่แท้จริงของหอมญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะเป็นแผ่นบางอยู่ที่ระหว่างรากและใบ ที่เราเห็นส่วนสีขาวที่เป็นกาบใบนั้นคือลำต้นเทียมซึ่งมีความสูงราว ๆ 25-75 เซนติเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 3-4 เซนติเมตร
ใบ : ใบของเขาตรง เป็นหลอดยาวตามแบบฉบับใบหอมแต่มีขนาดใหญ่กว่าหอมไทยที่เราเห็นกัน งอกออกมาจากลำต้นประมาณ 6-7 ใบ ใบด้านในจะค่อนข้างอ่อน ส่วนใบด้านนอกจะแก่
คุณค่าทางโภชนาการ
ต้นหอมญี่ปุ่น มีประโยชน์เกินกว่าที่หลายคนคาดคิด เปรียบเสมือนสมุนไพรที่กินแล้วเป็นยา ในส่วนของกาบใบจะประกอบไปด้วยน้ำตาลและโปรตีน แร่ธาตุหลายชนิดเช่น โพแทสเซียม, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, สังกะสี, แมงกานีส, เหล็ก, เบต้าแคโรทีน, เรติน, วิตามินซี และวิตามินเค
ประโยชน์
ลดอาการหวัด ในส่วนกาบสีขาวของหอมญี่ปุ่นนั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่าเนกิออล (Negiol) ซึ่งช่วยในเรื่องการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดไข้ ลดอาหารหวัดได้ นอกจากการรับประทานแบบสดแล้วคนญี่ปุ่นก็ยังนิยมนำต้นหอมมาพันรอบคอเพื่อดมกลิ่นเข้าไปอีกด้วย แถมวิตามินซีก็ยังเป็นตัวช่วยเสริมเรื่องภูมิคุ้มเป็นกันอย่างดี
ลดไขมันในเส้นเลือด ต้นหอมญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นผักที่มีประโยชน์ มาพร้อมสารฟลาโวนอยด์ ตัวการสำคัญช่วยในเรื่องลดไขมัน คอเลสเตอรอลในเลือด และเป็นเกราะป้องกันการสะสมตัวของไขมันในเลือดได้อีกด้วย
บรรเทาอาการท้องอืด กินต้นหอมก็ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นได้เช่นกัน แตกต่างจากหอมชนิดอื่นที่กินแล้วอาจท้องอืดแทน
การขยายพันธุ์
หอมญี่ปุ่น ขยายพันธุ์ค่อนข้างยากหน่อย โดยเฉพาะสำหรับในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ดก็เล่นเอาหลายคนปวดหัว ใครเป็นเกษตรกรมือใหม่ก็อาจจะต้องล้มเลิกกันไปบ้าง ข้อสำคัญก็คือต้นหอมญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างชอบอากาศหนาวเย็น เหมาะแก่การปลูกในภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของประเทศไทยเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักพบเจอเจ้าต้นหอมชนิดนี้ได้ที่ “สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง”
สำหรับคนที่อยากลองปลูก เรื่องดินก็ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากดินของประเทศไทยเรานั้นไม่เหมาะสำหรับปลูกพืชเมืองหนาวอย่างต้นหอมญี่ปุ่นสักเท่าไร จึงมีความจำเป็นจะต้องขุดพลิกหน้าดินมาตากแดดเอาไว้ก่อนอย่างน้อย 14 วันเพื่อปรับสภาพหากพบว่าดินนั้นมีความเป็นกรดให้ใช้ปูนขาวในการฆ่าเชื้อ ทั้งนี้อาจจะต้องเพิ่มไนโตรเจนและโบรอนลงไปในดินด้วยเล็กน้อย จากนั้นก็ทำตามวิธีการขยายพันธุ์พืชดังต่อไปนี้ได้เลย
1.นำเมล็ดต้นหอมญี่ปุ่นไปแช่น้ำเอาไว้ราว ๆ 20 นาทีแล้วนำขึ้นมาผึ่งไว้อีก 20 นาที
2.จากนั้นบ่มเมล็ดโดยการห่อผ้าทิ้งเอาไว้ 1 คืน
3.นำเมล็ดต้นหอมมาหยอดลงในถาดเพาะกล้า ซึ่งตรงนี้ก็ให้ใช้ดินในแบบเดียวกันกับแปลงใหญ่ได้เลย
4.รดน้ำวันละ 1 ครั้ง วางถาดเพาะเอาไว้ในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน
5.ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็จะสามารถนำกล้าหอมไปปลูกลงแปลงใหญ่ได้แล้วล่ะ
การปลูก / ดูแล
1.วิธีปลูกหอมญี่ปุ่นเมื่อย้ายมาจากแปลงเพาะแล้ว ให้เราใช้มีดคมตัดรากของต้นหอมทิ้ง จนกระทั่งเหลือความยาว 1 เซนติเมตร ก็ฝังลงดินแล้วกลบได้เลย
2.สำหรับการดูแลต้นหอมญี่ปุ่น นอกจากการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 1 ครั้งแล้ว ยังต้องขยันพลิกหน้าดิน (พรวนดิน) ทุก ๆ 14 วันเพื่อฆ่าเชื้อรา กำจัดวัชพืชไปในตัว
ข้อควรระวัง
สิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการปลูกต้นหอมญี่ปุ่นก็คงหนีไม่พ้น “ดิน” ซึ่งเราต้องหมั่นเช็คค่า PH ความเป็นกรดต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะถ้าหากดินมีความเป็นกรดสูงก็จะทำให้ต้นผักของเราหยุดการเจริญเติบโตได้ และต้องพยายามให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ
อายุเก็บเกี่ยว
โดยปกติแล้วต้นหอมชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่พอเป็นอาหารให้แก่มนุษย์ในช่วงอายุ 90 วันพอดิบพอดี เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวโดยการถอนรากขึ้นมาจากดิน และลอกกาบส่วนที่ไม่จำเป็นออกและเข้ากระบวนการส่งต่อถึงมือผู้บริโภคเป็นขั้นตอนถัดไป
และนี่ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ ต้นหอมญี่ปุ่น ผักจากต่างแดนที่คนไทยนิยมนำมารังสรรค์เมนูต่าง ๆ แถมประโยชน์เยอะ ใครอยากปลูกผักกินเองก็อาจจะต้องพยายามสู้กับวิถีทางธรรมชาติหน่อย แต่ก็หวังว่าจะทำสำเร็จนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net