ความลับของคะน้า

by plantlover
คะน้า

ผักใบเขียวอย่างคะน้า เป็นผักที่อยู่ในเมนูอาหารไทยหลายเมนูด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นผักที่ให้ผลผลิตในทุกฤดู เรียกได้ว่าหาผักคะน้ามากินกันได้ทุกวัน ผักชนิดนี้มีต้นกำเนิดในทวีปเอเชีย ซึ่งเพาะปลูกมากในประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย รวมไปถึงประเทศไทยบ้านเราด้วย เป็นพืชผักใบเขียวที่นิยมรับประทานกันทั่วไป เป็นผักที่หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง แต่มีสิ่งที่ควรจะระวังเป็นพิเศษนอกจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงแล้ว อาจจะต้องระวังในเรื่องของธาตุแคดเมียมที่อาจจะปนเปื้อนมากับน้ำ และพื้นดินด้วย วันนี้ PlantLover จะมาบอกความลับของผักชนิดนี้ให้ได้รู้กัน ไปติดตามกันได้เลย

สายพันธุ์คะน้าที่นิยมปลูก

1. พันธุ์ใบกลม พันธุ์นี้มีลักษณะใบกว้างใหญ่ ปล้องสั้น ปลายใบมน ผิวใบเป็นคลื่นเล็กน้อย จำนวนใบต่อต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ใบ อายุตั้งแต่ตอนปลูกถึงตอนออกดอกประมาณ 50-55 วัน อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 45-48 วัน ได้แก่ พันธุ์ฝางเบอร์ 1 เป็นต้น

2. พันธุ์ใบแหลม ลักษณะใบแคบ ปลายใบแหลม ผิวใบเรียบ ข้อห่าง ได้แก่ พันธุ์ P.L.20 เป็นต้น

3. พันธุ์ยอดหรือก้าน มีลักษณะใบเหมือนกับพันธุ์ใบแหลม แต่จำนวนใบต่อต้นมีน้อยกว่า ปล้องยาวกว่า ลำต้นเดี่ยวอวบ ส่วนกลางป่องใหญ่ ใบเรียบ ปลายใบแหลมตั้งชี้ขึ้น ก้านใบบาง ช่วงข้อยาว มีน้ำหนักส่วนลำต้นและก้านมากกว่าใบ ได้แก่ พันธุ์แม่โจ้ 2 เป็นต้น

คะน้า

ลักษณะของคะน้า

พืชผักชนิดนี้เป็นพืชล้มลุก อายุสั้น สามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดพันธุ์ มีลักษณะดังนี้

1. มีรากแก้วสีขาว ลึกลงดินประมาณ 10 เซนติเมตร และมีรากฝอยออกตามรากแก้ว

2. ลำต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นอวบใหญ่ สีเขียว

3. ใบมีขนาดใหญ่ ใบกลม ผิวใบเป็นคลื่น มัน ใบสีเขียว

4. ดอกคะน้าจะแทงออกจากปลายยอด ออกดอกเมื่อต้นแก่ และจะมีเมล็ดซึ่งสามารถนำไปขยายพันธุ์ได้

คุณค่าทางโภชนาการ

คุณค่าทางโภชนาการของผักใบเขียวชนิดนี้ในปริมาณ 100 กรัม พบว่า ให้พลังงานมากถึง 24 แคลอรี มีสารอาหารสำคัญประกอบด้วย โปรตีน 2.7 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม แคลเซียม 245 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 147 มิลลิกรัม และกากใยอาหาร 3.2 กรัม 

คะน้า

ประโยชน์ของผักใบเขียวชนิดนี้

1. เสริมภูมิคุ้มกัน

2. บำรุงสายตา

3. เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก

4. บำรุงเลือด ป้องกันโลหิตจาง

5. บำรุงผิวพรรณ เพิ่มคอลลาเจนให้ผิว

6. ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย

7. ลดความเสี่ยงมะเร็ง

ข้อควรระวัง

สารสำคัญคือ สารกอยโตรเจน หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ ยังยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ร่างกายนำไอโอดีนไปใช้ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตามผักชนิดนี้ถูกจัดเป็นผักที่มีสารตกค้างค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบมีศัตรูพืชมารบกวน ในปัจจุบันการปลูกผักออร์แกนิกแพร่หลายมาก จึงทำให้มีทางเลือกในการซื้อผักปลอดสารพิษมาบริโภคมากขึ้น แต่เพื่อความไม่ประมาท ก่อนนำมาปรุงอาหาร ควรล้างผักอย่างถูกวิธีเพื่อลดสารพิษตกค้าง

You may also like

Leave a Comment